หลายๆคน คงพอจะได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลในอเมริกาที่มีราคาแพง
เรามาทำความรู้จักระบบประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกากันก่อน โดยพื้นฐานแล้วที่นี่จะไม่มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ Universal Healthcare เหมือนที่ประเทศไทยค่ะ ประกันสุขภาพที่รัฐบาลมีให้มีเพียงสองโครงการเท่านั้นคือ Medicare และ Medicade โดย Medicare จะเป็นหลักประกันสังคมที่คุ้มครองผู้สูงอายุที่เกษียณ และอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น
โดยจะได้รับความคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และอื่นๆ ก็ต่อเมื่อเคยทำงานและจ่ายเงินสมทบ 10 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่ทำงานและจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 10 ปี ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มเติม ขณะที่โครงการ Medicade จะเป็นประกันสำหรับคนยากจนเท่านั้น โดยมีรัฐบาลส่วนกลาง มลรัฐ และท้องถิ่นร่วมกันออกค่าใช้จ่ายให้ และมลรัฐมีหน้าที่บริหารจัดการโครงการนี้ การจะได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่โครงการ จะใช้เกณฑ์รายได้เป็นตัวตั้ง ซึ่งแต่ละมลรัฐก็จะมีเกณฑ์แตกต่างกันไป รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมก็จะแตกต่างกันไปด้วยค่ะ
ระบบเยอะ ค่าใช้จ่ายเยอะ
- หากคุณเคยดูซีรีย์ Good Doctor หรือภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ คุณน่าจะรู้ดีว่าระบบต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลที่อเมริกานั้นมีความทันสมัย ซับซ้อน และครบครันมาก ๆ คุณแทบจะสามารถผ่าตัดเล็ก ๆ ในห้องฉุกเฉินได้ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยให้คนไข้มีโอกาสรอดมากขึ้น แน่นอนว่าราคามันก็ไม่ได้ถูกเลย ไม่ใช่แค่ค่าอุปกรณ์และค่าเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีค่าเอกสารต่าง ๆ ค่าบริหารจัดการ ค่าซอฟแวร์ ค่าโค้ด ค่าโปรแกรม ค่าประกันอุปกรณ์ ค่าลิขสิทธิ์ และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ยิ่งระบบเหล่านี้มีเยอะ ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลก็ยิ่งสูงด้วย
ราคายาที่สูงลิ่ว
- โดยเฉลี่ยแล้ว พลเมืองอเมริกาจ่ายเงินเพื่อซื้อยาแพงกว่าประเทศอื่น ๆ เกือบ 2 เท่า แม้ว่าราคายาจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่เรื่องของผลประโยชน์และกำไรขาดทุนของโรงพยาบาลนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ทั้งค่าเงิน ขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องของการเมืองอีกด้วย
เงินเดือนของหมอและพยาบาลที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอเมริกานั้นมีรายได้เฉลี่ยแล้วปีละ 10 ล้านบาท อ่านไม่ผิด 10 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่เดือนละ 1-2 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น คิดเป็นสิบเท่าเลยทีเดียว ถือว่าอาชีพหมอในอเมริกานั้นมีรายได้ที่เยอะมาก ๆ แต่ก็ต้องแลกมากับความกดดัน และการคัดกรองคุณภาพบุคลากรของอเมริกานั้นเข้มงวดสุด ๆ
โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นองค์กรแสวงหาผลกำไร
- หลาย ๆ คนอาจจะเคยชินภาพจำว่า โรงพยาบาลต้องช่วยเหลือคน หมอต้องรักษาคน ในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วโรงพยาบาลในอเมริกานั้นมีรูปแบบการบริหารคล้าย ๆ กับบริษัทอย่างหนึ่ง ที่มีการลงทุน มีกำไร มีขาดทุน มีการคิดรายได้ในแต่ละเดือน และมีการบริหารจัดการการทำงานอย่างไรก็ได้ให้มีลูกค้าเยอะที่สุด
- และปัจจุบันนี้โรงพยาบาลแทบทั้งประเทศอเมริกายังประสบปัญหาเกี่ยวกับการเงิน เพราะสภาวะโควิดที่เริ่มดีขึ้นแล้ว ผู้ติดเชื้อน้อยลง แถมคนที่ติดเชื้อก็เลือกการรักษาที่บ้านแทนที่จะไปโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งก็ต้องขึ้นราคาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด
โรงพยาบาลมักจะ “เผื่อไว้ก่อน”
กฎหมายในอเมริกานั้นเข้มงวด มีผลกระทบที่รุนแรง และโทษหนักมาก ๆ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ทำให้โรงพยาบาลในอเมริกาจะต้องมีการ เผื่อไว้ก่อน ในทุกกรณี เพื่อป้องกันการโดนคนไข้ฟ้องในเคสที่วินิจฉัยผิดพลาด เช่น คนไข้รายหนึ่งเป็นไข้ ความจริงแล้วอาจจะแค่ซื้อยาทานแล้วหาย แต่ทางโรงพยาบาลจะต้องมีการตรวจแทบทุกซอกทุกมุม มีการ MRI scan , CT scan และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แม้ว่าโรงพยาบาลจะไม่ได้บังคับ แต่หากแพทย์เป็นคนแนะนำให้ตรวจ คนไข้ก็คงไม่กล้าปฏิเสธ
ราคาของฟังก์ชั่นเสริมเหล่านี้ แพงกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเฉลี่ยแล้ว 7-8 เท่าเลยทีเดียว
ตลาดเสรีในอเมริกาครอบคลุมถึงโรงพยาบาลด้วย
- การตั้งราคาของค่าบริการในโรงพยาบาลอเมริกานั้นมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเยอะมาก ๆ ทั้งด้านประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และจากย่อหน้าแรกที่เราได้กล่าวไปแล้วว่าโรงพยาบาลในอเมริกานั้นมีระบบที่ซับซ้อนและทันสมัย ทำให้จะต้องคิดราคาเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ยังคงดำเนินกิจการต่อไป และที่สำคัญเลยก็คือ โรงพยาบาลในอเมริกายังไม่ได้ถูกควบคุมราคาจากรัฐหรือได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถตั้งราคาได้ตามใจ จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้
ผู้เชี่ยวขาญหลาย ๆ คนวิเคราะห์ไว้แล้วว่า ค่าบริการของพวกเขานั้นแพงเกินจริงเพราะไม่มีใครมาควบคุม หลักฐานก็คือต้นทุนของบริการบางอย่างไม่สมเหตุสมผลกับค่าบริการที่ต้องจ่าย เช่น MRI Scan ในอเมริกานั้นราคาสูงเกือบ 40,000 บาท แต่ในประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ 10,000-20,000 บาทเท่านั้น และต้นทุนที่แท้จริงของ MRI Scan ก็ไม่ได้แพงขนาดนั้นด้วย